สารทเดือนสิบ! เทศกาลรู้คุณคน!!
- Pirabru CommSci
- Oct 9, 2018
- 1 min read

ประเพณีทำบุญวันสารทเดือนสิบเป็นประเพณีสำคัญของภาคใต้ในประเทศไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา โดยในวันนี้ชาวใต้จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับที่ได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกซึ่งจะตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เพื่อมารับส่วนบุญจากญาติของตนเองโดยวันนี้จะเรียกว่า ‘วันรับตายาย’ หรือ ‘วันบุญแรก’ และในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เหล่าวิญญาณบรรพบุรุษก็จะกลับนรกซึ่งเรียกวันนี้ว่า ‘วันส่งตายาย’ หรือ ‘วันบุญหลัง’

ซึ่งในวันนี้จะมีการแห่กระจาดที่บรรจุขนมเดือนสิบ เช่น ขนมลาเป็นสัญลักษณ์แทนเสื้อผ้า, ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับญาติผู้ล่วงลับใช้เดินทาง, ขนมกงเป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ,ขนมเจาะรูเป็นสัญลักษณ์แทนเงินสำหรับใช้จ่าย, ขนมบ้าเป็นสัญลักษณ์แทนสะบ้า เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีอาหารแห้ง ผลไม้ และของใช้อื่น ๆ ภายในกระจาดสำหรับนำไปวัด หลังจากนั้นชาวบ้านจะร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนา ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ เมื่อเสร็จแล้วก็ร่วมกัน "ตั้งเปรต" เพื่อแผ่ส่วนบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ โดยอาหารที่จะตั้งเปรตนั้น จะเป็นขนมเดือนสิบ อาหารและผลไม้อื่น ๆ ที่บรรพบุรุษชอบ เมื่อตั้งเปรตเสร็จสิ้นแล้ว พระสงฆ์จะสวดบังสกุลโดยจับสายสิญจน์ที่ผูกไว้กับหลาเปรต เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้นผู้คนจะร่วมกัน "ชิงเปรต" เพื่อความสนุกสนาน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าหากใครได้กินอาหารบนหลาเปรตจะได้รับกุศล เป็นมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
ประเพณีทำบุญวันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่มีคุณค่าทางจิตใจกับบรรดาครอบครัวที่มาร่วมงาน และเป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูของลูกหลาน ญาติ ที่รำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับอยู่เสมอ

อ้างอิง
ประเพณีวัฒนธรรมภาคใต้ (ชิงเปรต)(ออนไลน์). ม.ป.ป. สืบค้นจาก :
มหัทธโน. 2557. วันสารทเดือนสิบ ประเพณีแห่งความกตัญญูกตเวที (ออนไลน์). สืบค้นจาก :
Comments